ลูกเนียงพระเครื่อง รับประกันของแท้ 100% ทุกองค์
ตำนานตาหมอ
ผู้พยาบาลชาวนครให้พ้นโรคภัย
มีเรื่องที่คนรุ่นปู่ทวดได้เล่าให้ฟังว่า มีชายคนหนึ่งไม่ทราบชื่อและไม่รู้ว่ามาจากไหน ได้ตั้งรกรากถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านมะปราง ซึ่งเป็นสวนผลไม้สมรม มีความชำนาญเป็นพิเศษในการประกอบยาสมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ ชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธาและเคารพนับถือท่านมาก (จึงเรียกขานท่านว่าตาหมอมาแต่นั้น-กอง บก.) แต่พออายุย่างเข้าสู่วัยชราท่านบอกว่าอยากพักผ่อนเพื่อปลีกวิเวก จึงสั่งให้ลูกหลาน สร้างศาลาให้ในที่ที่สงบบริเวณที่สวนนี้
ตาหมอจึงไปพักผ่อนหาความสงบโดยการบำเพ็ญวิปัสสนาเพื่อฝึกใจให้สงบและได้สั่งลูกหลานและชาวบ้านว่า ถ้าท่านตายไปแล้วให้เอาที่ดินแปลงนั้นสร้างวัด เพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์สืบทอดพระพุทธศาสนา และสั่งว่าแร่ดีบุกที่ท่านสะสมเอาไว้เมื่อครั้งยังหนุ่ม ๆ ให้เอาดีบุกนั้นไปหล่อพระลาก (พระปางอุ้มบาตร) และไม้ขนุนต้นใหญ่มาแกะเป็นพระลากด้วย ลูกหลานก็ส่งข้าวส่งน้ำเลี้ยงดูท่านตลอดโดยเฉพาะข้าวต้มโรยน้ำตาลเป็นของโปรดปรานของท่าน
หลังจากท่านตายไปแล้วลูกหลานก็ยังนึกพระคุณท่านตลอด โดยนำเอาข้าวต้มมาทำการบูชาทุกวัน แต่คนรุ่นปู่ทวดได้เล่าว่าปู่ตาหมอรักลูกหลานมาก ตายไปแล้วเป็นเทพเจ้า วิญญาณท่านเข้าสิงร่างเสือโคร่งใหญ่ วนเวียนเที่ยวดูแลลูกหลานอยู่ตลอด ซึ่งลูกหลานสงสัยว่าปู่ตาหมอตายไปแล้วแต่ข้าวต้มที่นำมาบูชาท่านหายไปหมดทุกวัน วันหนึ่งลูกหลานนำข้าวต้มไปบูชาโดยตั้งไว้บนศาลาเหมือนเดิม แต่ไม่กลับบ้าน ได้หลบซ่อนแอบอยู่ใกล้ ๆ พ่อปลอดคน เสือก็ออกมากินข้าวต้มจนหมด จึงได้ทราบว่าปู่หมอของพวกเขาเป็นเสือไปแล้ว แต่ไม่ทำร้ายใคร คอยปกป้องคุ้มภัยให้ลูกหลานและผู้คนที่สัญจรไปมาตลอด แต่ถ้าผู้ใดกล่าวให้ร้ายก็จะสำแดงเดชให้เห็น
หนังตะลุงมโนห์ราเดินทางมาถึงบริเวณนี้ก็จะคารวะท่านโดยหยุดบรรเลงเครื่องดนตรีหนังหรือมโนก็รา ก่อน ๑ จบเป็นการบูชาแล้วค่อยเดินทางต่อไป
ประชาชนหรือลูกหลานใครเดือดร้อนมาสักการบูชาและบนบานศาลกล่าว ขอให้ช่วยเหลือแล้วค่อยนำข้าวต้ม หรือหนังตะลุง-มโนห์รามาแสดงถวายเพื่อแก้บนหลังจากสมประสงค์ที่บนไว้
การสร้างวัดแม้ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าสร้างเมื่อใดแต่ลูกหลานก็ทำตามคำสั่งของปู่หมอทุกอย่าง สำหรับแร่ดีบุกก็ร่วมกันหล่อเป็นพระลากได้สำเร็จและได้นำเอาไม้แก่นขนุนมาแกะเป็นพระลากอีกรูปหนึ่ง เมื่อวัดตาหมอร้างไปหลายปีไม่มีคนดูแลรักษา ชาวบ้านกรรมการวัดได้นำเอาดีบุกและไม้ขนุนทั้ง ๒ องค์ไปฝากไว้ที่วัดใหม่ทอน หมู่ที่ ๔ ตำบลขุนทะเลใกล้ ๆ วัดตาหมอนี้เอง ปัจจุบันพระลากทั้ง ๒ องค์ นำกลับมาไว้ที่วัดตาหมอเหมือนเดิมและใช้ลากทุกปี
หมื่นเสลาบาตรรักษาได้เล่าให้นายแข ศรีจำลอง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ ฟังว่า วัดตาหมอเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน แต่เนื่องจากวัดร้างเป็นช่วง ๆ ช่วงละหลายปี จึงทำให้ขาดการปกครองวัดอย่างต่อเนื่อง
พ.ศ. ๒๔๖๕ หมื่นเสลาบาตรรักษา ได้นิมนต์พระทุ่ม ญาณวโร, มารักษาการเจ้าอาวาส และได้คิดปรับปรุงบูรณะวัด ได้จัดพิมพ์หนังสือคำกลอนเรื่องเรือน “สามน้ำสี่” แทนใบฎีกาเพื่อทอดผ้าป่าหาเงินบูรณวัด สมัยก่อนเงินมีค่าแต่หายาก ตอนหนึ่งในหนังสือว่า “ ยี่สิบห้าสตางค์ อย่างคล่องคล่อง ไม่ขัดข้องฎีกาวัดตาหมอ” และในตอนหนึ่งว่า “คนก็ขัดวัดก็ขอด ไปนิมนต์ท่านรอดมาให้ช่วยขูด” (สมัยนั้นพระรอด เป็นนักเทศน์ชื่อดัง)
วัดตาหมอจึงเป็นวัดศูนย์รวมชุมชน วัดจึงมีความสำคัญต่อชาวบ้านมากขึ้น ต่อมาในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๐ ทางวัดจึงได้เปิดโรงเรียนประชาบาล ขึ้น โดยมีนายแข ศรีจำลอง (ชาวบ้านท่านปลัดแข) เป็นครูใหญ่ โดยใช้โรงธรรมศาลาเป็นอาคารชั่วคราว
พ.ศ. ๒๔๘๖ โรงเรียนไปตั้งใหม่ที่วัดใหม่ทอน เนื่องจากวัดขาดผู้อุปถัมภ์ วัดตาหมอจึงร้างไปนาน
ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๑๗ นายแข ศรีจำลอง ได้ทำหนังสือถึงนายอำเภอลานสกา ขอปฏิสังขรณ์วัดตาหมอขึ้นใหม่ และพระสงฆ์จำพรรษามาจนถึงปัจจุบันฯ
สารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๕๘