ลูกเนียงพระเครื่อง รับประกันของแท้ 100% ทุกองค์
หล่อปั๊มรุ่นแรก พระครูสุนทร วัดดินดอน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช สร้างปี 2511
พระครูสุนทร เดิมท่านมีชื่อว่านาค เกิดเมื่อวันเสาร์ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2420 บ้านบางชัน ตำบลกำแพงเซา อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อนายศรี มารดาชื่อนางพุ่ง ปู่ของท่านมีศักดิ์เป็นหมื่น ชื่อหมื่นเดช เป็นผู้มีฝีมือทางช่าง และการก่อสร้าง ตลอทั้งการแกะสลักลายไทย จึงได้รับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ส่วนตาของท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน เป็นพราหมณ์ ที่มีความรอบรู้ในฤกษ์พิธีตลอดทั้งพิธีกรรมแต่โบราณ
สมัยที่พระครูสุนทรยังเป็นเด็ก นายศรี ซึ่งเป็นบิดาของท่านได้เดินทางมาซื้อวัวควายแถวบ้านดอน จังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็นประจำ ได้เกิดความเลื่อมใสต่อเจ้าอาวาสวัดบางกล้วย จึงศรัทธาขอบวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาที่วัดบางกล้วย ขณะนั้นท่านพระครูสุนทรมีอายุได้เพียง 5 ขวบ และอาศัยอยู่กับมารดาที่บ้านบางชันกับน้องชายและน้องสาวอีกสองคน พอท่านอายุได้ 6 ขวบ หมื่นศรีซึ่งเป็นปู่ ก็มาพาท่านไปสอนหนังสือที่บ้านออก วัดดินดอน พอเห็นว่า อ่านออกเขียนได้บ้างแล้ว จึงพาท่านไปถวายตัวเป็นศิษย์วัดสระเรียง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเรียนหนังสือต่อ
ต่อมาเมื่อพระศรี ซึ่งเป็นบิดาของพระครูสุนทรจำพรรษาที่วัดบางกล้วย จังหวัดสุราษฏร์ธานีได้ 3 พรรษาจึงมาจำพรรษาที่วัดสระเรียง ก็ได้อยู่ปรนนิบัติพระศรีในฐานะลูกศิษย์กับอาจารย์ ส่วนพระศรีมีความซาบซึ้งในรสพระธรรมก็มิได้คิดจะลาสิกขาอีก จึงได้บวชและศึกษาพระธรรมวินัยต่อไป จนมีความรอบรู้ในพระปริยัติธรรมและพระธรรมวินัยพอสมควร ต่อมาชาวบ้านจึงได้อาราธนามาเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเพียงวัดเล็ก ๆ
ไม่นานพระศรีก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ศรี ฐานานุกรมของพระครูกาแก้ว วัดสวนหลวงออก พระครูสุนทรก็ได้เรียนหนังสือกับพระสมุห์ศรี ตลอดทั้งอักขระสมัยและวิชาการต่าง ๆ จนมีความรู้พอสมควร พอถึง พ.ศ. 2435 ท่านมีอายุได้ 15 ปี ญาติ ๆ จึงพาไปทำพิธีโกนจุกที่วัดขัน แล้วก็บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดขันแห่งนี้ จากนั้นก็ย้ายไปจำพรรษาที่วัดหน้าพระบรมธาตุอยู่กับพระสมุห์ศรีผู้เป็นบิดา บรรพชาเป็นสามเณรได้หนึ่งพรรษาก็ลาสิกขาออกมา
เมื่อถึง ปี พ.ศ. 2436 พระสมุห์ศรีได้เดินทางเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่กรุงเทพ จึงได้พาพระครูสุนทรขึ้นมาด้วย โดยฝากให้พระอาจารย์แผ้ง เป็นผู้ดูแลวัดหน้าพระบรมธาตุแทน
เมื่อถึงกรุงเทพฯ แล้วพระสมุห์ศรีได้จำพรรษาและเรียนอยู่ที่วัดมหาธาตุ ส่วนพระครูสุนทรตอนนั้นอายุได้ 16 ปีได้ไปสมัครเรียนหนังสือแบบใหม่ที่วัดมกุฏิกษัตยาราม แต่เรียนอยู่ได้เพียงปีเดียวก็ลาพระสมุห์ศรีกลับเมืองนครศรีธรรมราช ฝ่ายพระสมุห์ศรีเรียนอยู่ที่วัดมหาธาตุ อยู่ได้ 4 ปี ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
จึงเดินทางกลับนครศรีธรรมราช และเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุเหมือนเดิม เมื่อพระครูกาแก้ว วัดสวนหลวงออกได้ถึงแก่มรณภาพ พระสมุห์ศรีจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูกาแก้ว ส่วนพระครูสุนทรซึ่งขณะนั้นอายุครบบวช จึงเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่จัดสวนหลวงตก ได้นามฉายาว่า โชติพโล
อุปสมบทแล้วท่านก็มาจำพรรษาที่วัดหน้าพระบรมธาตุกับพระครูกาแก้ว (ศรี) ผู้เป็นโยมบิดา ศึกษาพระธรรมวินัยกับหัดเทศน์มหาชาติจนชำนาญ และมีชื่อเสียงในเมืองนครฯ พอพรรษาที่สาม จึงเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ เมื่อมีความรู้พอสมควรแล้วจึงเดินทางกลับนครศรีธรรมราช โดยจำพรรษาที่วัดหน้าพระบรมธาตุ และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระปลัด ฐานานุกรมของพระครูกาแก้ว (ศรี)
ต่อมาในปี 2458 พระใบฏีกาหมุ้น วัดหน้าพระลาน ซึ่งเป็นพระฐานานุกรมของพระครูกาแก้ว (ศรี) ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดหน้าพระบรมธาตุเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระของพระครูกา แก้ว (ศรี) ซึ่งชราภาพ รุ่งขึ้นถึงปี พ.ศ. 2459 พระครูกาแก้ว (ศรี) ก็มรณภาพขณะที่มีอายุ 70 ปี เสร็จจากงานพระราชทานเพลิงศพแล้ว พระใบฏีกาหมุ้นได้รับแต่งตั้งเป็นพระปลัด ฐานานุกรมของพระญาณเวที (ลือ) วัดพระเดิม พระสงฆ์ในวัดหน้าพระบรมธาตุรวมทั้งพระครูสุนทร จึงได้พร้อมใจกันนิมนต์พระปลัดหมุ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดหน้าพระบรมธาตุ สืบต่อมา
ต่อมาพระปลัดหมุ้นได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูกาแก้ว (ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช นับเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดท่านหนึงของภาคใต้ และเป็น 1 ใน 108 พระเกจิอาจารย์ที่มาร่วมลุกเสกวัตถุมงคลที่วัดราชบพิธ ในปี พ.ศ. 2481 ด้วย) ระหว่างนั้นพระครูสุนทรยังเป็นพระปลัด ท่านได้ช่วยพระครูกาแก้ว (หมุ้น) บริหารการปกครองและการศึกษาอยู่วัดหน้าพระบรมธาตุด้วยอีกหลายปี ราวปี พ.ศ. 2472 พระอุปัชฌาย์เกลี้ยง เจ้าอาวาสวัดดินดอน ได้มรณภาพลง ชาวบ้านละแวกวัดได้เดินทางมานิมนต์พระครูสุนทรซึ่งขณะนั้นเป็นพระปลัดนาค ไปปกครองวัดดินดอน
องค์นี้สภาพสวยมาก